พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง


 


พระแก้วมรกต  
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เขตพระนคร กทม. พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวไทย ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (หรือ วัดพระแก้ว) ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร พระแก้วมรกตเป็นพระพุทธรูปที่แกะสลักจากหยกอ่อน(เนไฟรต์) สีเขียวดังมรกต เป็นพระพุทธรูปสกุลศิลปะก่อนเชียงแสนถึงศิลปะเชียงแสน  มีขนาดความกว้าง 19 นิ้ว สูง 28 นิ้ว หลักฐานที่ตรงกันระบุว่าพบครั้งแรก ประดิษฐานอยู่ในเจดีย์วัดป่าญะ ต. เวียง เมืองเชียงราย  (ปัจจุบันคือวัดพระแก้ว เชียงราย อำเภอเมืองเชียงราย)  และได้มีประวัติการถูกอัญเชิญไปประดิษฐานยังที่ต่างๆ หลายครั้ง จนกระทั่งล่าสุด  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี ได้ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกต (พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร)  ลงบุษบกในเรือพระที่นั่ง เสด็จข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มาประดิษฐานยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่คนไทยให้ความเคารพบูชาอย่างมากจนถึงปัจจุบัน  

คาถาบูชา (ตั้งนะโม 3 จบ)

"พุทธะมะหามะณีระตะนะปะฏิมากะรัง นะมามิหัง เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เม โหตุ สัพพะทา,

ทุติยัมปิ พุทธะมะหามะณีระตะนะปะฏิมากะรัง นะมามิหัง เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เม โหตุ สัพพะทา,

ตะติยัมปิ พุทธะมะหามะณีระตะนะปะฏิมากะรัง นะมามิหัง เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เม โหตุ สัพพะทาฯ" 

----------------------------------------------------------------------

พระพุทธโสธร

พระพุทธโสธร วัดโสธรวรารามตามประวัติกล่าวว่า มีพระพุทธรูปสามองค์ ลอยน้ำมาจากทิศเหนือ แล้วมาผุดขึ้นที่แม่น้ำปางปะกง ในลักษณะที่ลอยทวนน้ำ ชาวบ้านเห็นเข้าจึงเอาเชือกไปคล้ององค์แล้วช่วยกันดึงเข้าฝั่ง แต่ไม่สำเร็จเชือกขาด และพระพุทธรูปได้จมน้ำไป ชาวบ้านจึงเรียกตำบลนั้นว่า สามพระทวน พระพุทธรูปทั้งสามองค์หลังจากจมลงไปในน้ำแล้ว ก็ได้ไปผุดขึ้นในที่หลายแห่ง แต่ละแห่งชาวบ้านได้พยายามฉุดดึงเข้าฝั่งแต่ไม่สำเร็จ บริเวณที่พบพระพุทธรูปดังกล่าวจึงได้ชื่อต่าง ๆ กันไป ได้แก่ บางพระ แหลมหัววน และคลองสองพี่น้อง เป็นต้น สำหรับพระพุทธรูปองค์ใหญ่ได้ลอยไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ชาวบ้านเป็นจำนวน มากช่วยกันฉุดขึ้นฝั่งแต่ไม่สำเร็จ ตำบลนั้นจึงได้ชื่อว่าสามแสน ต่อมาได้เพี้ยนมาเป็นสามเสนในที่สุดได้มีอาราธนา พระพุทธรูปองค์ใหญ่ขึ้นไปประดิษฐานที่วัดบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม ได้ชื่อว่าหลวงพ่อบ้านแหลม องค์ที่สาม ชาวบางพลีได้อาราธนาขึ้นประดิษฐานที่วัดบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ส่วนองค์กลางได้ลอยไปตามแม่น้ำบางปะกง ไปจนถึงวัดหงษ์ ชาวบ้านได้อาราธนาขึ้นไปประดิษฐานในอุโบสถวัดหงษ์ และเปลี่ยนมาเป็นวัดโสธร เล่ากันว่า ที่วัดนี้เดิมมีเสาใหญ่มีรูปหงษ์อยู่บนยอดเสา จึงได้ชื่อว่าวัดหงษ์ ต่อมาหงษ์ที่ยอดเสาหักตกลงมา ทางวัดจึงเอาธงไปติดไว้ที่ยอดเสาแทนรูปหงษ์ จึงได้ชื่อว่าวัดเสาธง ต่อมาเกิดมีพายุพัดเสานี้หักลงส่วนหนึ่ง จึงได้ชื่อว่าวัดเสาทอน และต่อมาชื่อนี้ได้กลายไปเป็น วัดโสธร

คาถาบูชา (ตั้งนะโม 3 จบ)

"นะ ทรงฟ้า โม ทรงดิน พุทธ ทรงสินธุ์ ธา ทรงสมุทร ยะ ทรงอากาศ พุทธังแคล้วคลาด ธัมมังแคล้วคลาด สังฆังแคล้วคลาด ศัตรูภัยพาลวินาสสันติ นะ กาโล กะกุสันโธ สิโร มัชเฌ โม กโร โกนาคะมะโน นานาจิตเต พุทธะกาโล กัสสะโป พุทโธ จะ ทะเวเนเต ธา กโร สีสักยะมุนี โคตะโม ยะ กันเต ยะ กาโล อะริยะเมตเตยโย ชิวหาทีเต ปัญจะพุทธา นะมามิหัง" 

----------------------------------------------------------------------------------------------

  พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงาม เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ มีหน้าตักกว้าง ๕ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้วเศษ ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ในวิหารใหญ่ทางทิศตะวันตก หันพระพักตร์ไปทางแม่น้ำ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุนี้ เป็นวัดหลวงชั้นเอก "วรมหาวิหาร" ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน ฝั่งตะวันออก ริมถนนพุทธบูชา ตําบลในเมือง อําเภอเมือง จ.พิษณุโลก  ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในปีใด แต่ก็มีการสันนิษฐานโดยอ้างอิงตามพงศาวดารเหนือคาดว่า ตำนานพระพุทธชินราช น่าจะสร้างพร้อมกับพระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ในรัชสมัย พระมหาธรรมราชาที่ 1(ลิไท) จากนั้นจึงมีการลงรักปิดทององค์พระเป็นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และได้มีการบูรณะ ลงรักปิดทองอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 และมีการบูรณะครั้งล่าสุดในรัชกาลที่ 9 พระพุทธชินราช นี้เป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยสุโขทัย หมวดพระพุทธชินราช ลักษณะขององค์พระเส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย พระขโนงโก่ง พระเนตรประดุจตากวาง พระนาสิกโด่ง ชายผ้าสังฆาฏิแยกเป็นเขี้ยวตะขาบ นิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวเสมอกัน อยู่ใน ลักษณะปางมารวิชัยด้านซ้ายและขวาขององค์พระ มียักษ์ 2 ตน คอยปกปักรักษาองค์พระอยู่ อีกทั้งยังมีพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกอยู่ด้วย นอกจากนี้แล้วยังมีซุ้มเรือนแก้ว  ประวัติพระพุทธชินราช ที่คาดว่าน่าจะสร้างในสมัยอยุธยาลักษณะเป็นรูปตัวเหรา ถือเป็นศิลปะที่สวยงามมากอย่าหนึ่ง พระพุทธชินราช ประดิษฐานในวิหารลักษณะเก้าห้อง ซึ่งมีการบูรณะปฏิสังขรณ์มาอย่างต่อเนื่องจนมาถึงปัจจุบัน ทำให้องค์พระสวยงามบริบูรณ์อย่างในปัจจุบัน และในประวัติศาสตร์ยังพบว่ากษัตริย์ในทุกๆสมัยของไทยให้ความเคารพและศรัทธาต่อองค์ พระพุทธชินราช มาอย่างต่อเนื่องทุกๆพระองค์

คาถาบูชา (ตั้งนะโม 3 จบ)

"อิเมหิ นานาสักกาเรหิ อะภิปูชิเตหิ ทีฆายุโก โหมิ อะโรโค สุขิโต สิทธิกิจจัง สิทธิกัมมัง ปิยัง มะมะ ปะสิทธิ ลาโภ ชะโย โหตุ สัพพะทา พุทธะชินะราชา อภิปาเลตุ มัง นะโมพุทธายะฯ" 

---------------------------------------------------------------------------------

พระพุทธไตรรัตนนายก(หลวงพ่อโต) 

สถานที่ประดิษฐาน: พระวิหารหลวงวัดพนัญเชิงวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

พุทธลักษณะ: ศิลปอู่ทองตอนปลาย ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ วัสดุ ปูนปั้น ลงรักปิดทอง

พระพุทธไตรรัตนนายก ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารวัดพนัญเชิง ริมฝั่งแม่น้ำป่าสัก ตรงข้ามกับมุมตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเมืองอยุธยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรียกกันเป็นสามัญว่า หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไปมาแต่โบราณกาล เดิมเรียกว่า "พระพุทธเจ้า เจ้าพแนงเชิง" ชาวไทยเชื้อสายจีน นิยมเรียกว่า "ซำปอกง" แปลว่า พระรัตนตรัย พุทธศาสนิกชนทั่วไป นิยมเรียกว่า "หลวงพ่อโต"

หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย หน้าตักกว้างประมาณ 14.20 เมตร สูง 19.20 เมตร ลักษณะของพระพุทธรูปจัดเป็นแบบอู่ทองรุ่นที่ 2 อันมีลักษณะพักตร์สี่เหลี่ยม เคร่งขรึม ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ กล่าวว่า พระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1867 หรือก่อนที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี 26 ปี แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้าง ครั้นสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีแล้ว พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาได้บูรณะซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดีมาโดยตลอด กล่าวกันว่าเมื่อคราวจะเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่านั้น ได้ปรากฏมีน้ำพระเนตรไหลออกมาจากพระเนตรทั้งสองข้างจรดพระนาภี เป็นที่น่าอัศจรรย์

หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิงเป็นที่เคารพสักการะของผู้คน ตลอดจนถึงพระมหากษัตริย์มาตลอดทุกยุคทุกสมัยแม้ในกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 โปรดฯให้ปฏิสังขรณ์หลวงพ่อโตทั้งองค์แล้วลงรักปิดทองใหม่ พระราชทานนามว่า “พระพุทธไตรรันตนนายก”

คาถาบูชา (ตั้งนะโม 3 จบ)

"อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง อะภิปูชะยามิ, ทุติยัมปิ อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง อะภิปูชะยามิ, ตะติยัมปิ อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง อะภิปูชะยามิ"

--------------------------------------------------------------------------------------

หลวงพ่อวัดไร่ขิง

องค์หลวงพ่อวัดไร่ขิงเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 4 ศอก 2 นิ้วเศษ สูง 4 ศอก 16 นิ้วเศษ ประดิษฐานอยู่บนฐานอยู่บนฐานชุกชี 5 ชั้น เบื้องหน้าผ้าทิพย์ปูทอดลงมาองค์หลวงพ่อวัดไร่ขิงประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ภายในอุโบสถ หันพระพักตร์ไปทางทิศอุดร (ทิศเหนือ) ซึ่งหน้าวัดมีแม่น้ำนครชัยศรีหรือแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน จากหนังสือประวัติของวัดไร่ขิงได้กล่าวไว้ว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) ได้อัญเชิญมาจากวัดศาลาปูน โดยนำล่องมาทางน้ำด้วยการทำแพไม้ไผ่หรือที่เรียกกันว่าแพลูกบวบรองรับองค์พระปฏิมากรณ์ เมื่อถึงหน้าวัดไร่ขิงจึงได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ภายในอุโบสถ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งเป็นวันสงกรานต์พอดีจึงมีประชาชนจำนวนมากมาชุมนุมกัน ในขณะที่อัญเชิญองค์หลวงพ่อขึ้นจากแพ สู่ปะรำพิธีได้เกิดอัศจรรย์แสงแดดที่แผดจ้ากลับพลันหายไป ความร้อนระอุในวันสงกรานต์ก็บังเกิดมีเมฆดำมืดทะมึน ลมปั่นป่วน ฟ้าคะนอง และบันดาลให้มีฝนโปรยลงมาทำให้เกิดความเย็นฉ่ำและเกิดความปิติ ยินดีกันโดยทั่วหน้า ประชาชนที่มาต่างก็พากันตั้งจิตรอธิษฐานเป็นหนึ่งเดียวกัน ว่า “หลวงพ่อจะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ดับความร้อนร้ายคลายความทุกข์ให้หมดไป ดุจสายฝนที่เมทนีดลให้ชุ่มฉ่ำ เจริญงอกงามด้วยธัญญาหารฉะนั้น” ดังนั้น วันดังกล่าวที่ตรงกับวันสงกรานต์หรือวันขึ้นปีใหม่ของคนไทย ทางวัดจึงได้ถือเป็นวันสำคัญ และได้จัดให้มีงานเทศกาลนมัสการปิดทองประจำปีหลวงพ่อวัดไร่ขิง สืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ตำนานหลวงพ่อวัดไร่ขิงนั้นจากคำบอกเล่าสืบต่อกันมา หรือที่เรียกว่า "มุขปาฐะ" มีหลายตำนาน ดังนี้

  • ตำนานที่ 1 ครั้งเมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์(พุก)ชาวเมืองนครชัยศรี ได้มาตรวจเยี่ยมวัดในเขตอำเภอสามพราน ได้เข้าไปในพระอุโบสถวัดไร่ขิง หลังจากกราบพระประธานแล้ว มีความเห็นว่าพระประธานมีขนาดเล็กเกินไป จึงบอกให้ท่านเจ้าอาวาสพร้อมชาวบ้านไปอัญเชิญมาจากวัดศาลาปูนฯ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยวางลงบนแบบไม้ไผ่และนำล่องมาตามลำน้ำและอัญเชิญขึ้นประดิษฐานในพระอุโบสถ ตรงกับวันพระขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 วันสงกรานต์พอดี
  • ตำนานที่ 2 วัดไร่ขิงสร้างเมื่อปีกุน พุทธศักราช 2394 ตรงกับปีสุดท้ายในรัชกาลที่ 3 ต้นปี ในรัชการที่ 4 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก)ซึ่งเป็นชาวเมืองนครชัยศรี ในขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์พระราชาคณะที่ "พระธรรมราชานุวัตร" ปกครองอยู่ที่วัดศาลาปูนวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้กลับมาสร้างวัดที่บ้านเกิดของตนที่ไร่ขิง เมื่อสร้างพระอุโบสถเสร็จแล้วจึงได้อัญเชิญพระพุทธรูป

สำคัญองค์หนึ่งจากกรุงเก่า ( จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ) มาเพื่อประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถแต่การสร้างยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ ท่านได้มรณภาพเสียก่อน ส่วนงานที่เหลืออยู่พระธรรมราชานุวัตร(อาจ จนฺทโชโต) หลานชายของท่านจึงดำเนินงานต่อจนเรียบร้อย และบูรณะดูแลมาโดยตลอดจนถึงแก่มรณภาพ

  • ตำนานที่ 3 ตามตำนานเป็นเรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมาเกี่ยวกับมีพระพุทธรูปลอยน้ำมา 5 องค์ก็มี 3 องค์ก็มีโดยเฉพาะในเรื่องที่เล่าว่ามี 5 องค์นั้น ตรงกับคำว่า " ปัญจภาคี ปาฏิหาริยกสินธุ์โน " ซึ่งได้มีการเล่าเป็นนิทานว่า ในกาลครั้งหนึ่ง มีพี่น้องชาวเมืองเหนือ 5 คน ได้บวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาจนสำเร็จเป็นพระอริยบุคคล ชั้นโสดาบัน มีฤทธิ์อำนาจทางจิตมากได้พร้อมใจกันตั้งสัตย์อธิษฐานว่า เกิดมาชาตินี้จะขอบำเพ็ญบารมีช่วยให้สัตว์โลกได้พ้นทุกข์ แม้จะตายไปแล้ว ก็จะขอสร้างบารมีช่วยสัตว์โลกให้ได้พ้นทุกข์ต่อไปจนกว่าจะถึงพระนิพานครั้งพระอริยบุคคลทั้ง 5 องค์ ได้ดับขันธ์ไปแล้ว ก็เข้าไปสถิตในพระพุทธรูปทั้ง 5 องค์จะมีความปรารถนาที่จะช่วยคนทางเมืองใต้ที่อยู่ติดแม่น้ำให้ได้พ้นทุกข์ จึงได้พากันลอยน้ำลงมาตามลำน้ำทั้ง 5 สาย เมื่อชาวบ้านตามเมืองที่อยู่ริมแม่น้ำเห็นเข้า จึงได้อัญเชิญและประดิษฐานไว้ตามวัดต่างๆ มีดังนี้
    • พระพุทธรูปองค์ที่ 1 ลอยไปตามแม่น้ำบางปะกง ขึ้นสถิตที่วัดโสธรวรวิหาร เมืองแปดริ้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา เรียกกันว่า "หลวงพ่อโสธร"
    • พระพุทธรูปองค์ที่ 2 ลอยไปตามแม่น้ำนครชัยศรี (ท่าจีน)ขึ้นสถิตที่วัดไร่ขิงเมืองนครชัยศรี เรียกกันว่า "หลวงพ่อวัดไร่ขิง"
    • พระพุทธรูปองค์ที่ 3 ลอยไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นสถิตที่วัดบางพลี เรียกกันว่า "หลวงพ่อวัดบางพลี" แต่บางตำนานก็ว่า หลวงพ่อวัดบางพลีเป็นองค์แรกในจำนวน 5 องค์ จึงเรียกว่า "หลวงพ่อโตวัดบางพลี "
    • พระพุทธรูปองค์ที่ 4 ลอยไปตามแม่น้ำแม่กลอง ขึ้นสถิตที่วัดบ้านแหลม เมืองแม่กลอง เรียกว่า "หลวงพ่อวัดบ้านแหลม"
    • พระพุทธรูปองค์ที่ 5 ลอยไปตามแม่น้ำเพชรบุรี ขึ้นสถิตที่วัดเขาตะเคราเมืองเพชรบุรี เรียกว่า "หลวงพ่อวัดเขาตะเครา"

ส่วนตำนานของเมืองนครปฐมนั้นเล่าว่า มีพระ 3 องค์ ลอยน้ำมาพร้อมกัน และแสดงปาฏิหาริย์จะเข้าไปยังบ้านศรีมหาโพธิ์ ซึ่งมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ จึงได้เรียกตำบลนั้นว่า "บางพระ" พระพุทธรูป 3 องค์ลอยไปจนถึงปากน้ำท่าจีนแล้วกลับลอยทวนน้ำขึ้นมาใหม่ จึงเรียกตำบลนั้นว่า "สามประทวน" หรือ "สัมปทวน" แต่เนื่องจากตำบลที่ชาวบ้านพากันไปชักพระขึ้นฝั่งเพื่อขึ้นประดิษฐาน ณ หมู่บ้านของตน แต่ทำไม่สำเร็จ ต้องเปียกฝนและตากแดดตากลมจึงได้ชื่อว่า "บ้านลานตากฟ้า" และ "บ้านตากแดด" ในที่สุดพระพุทธรูปองค์แรกจึงยอมสถิต ณ วัดไร่ขิงเรียกกันว่า "หลวงพ่อวัดไร่ขิง" ส่วนองค์ที่ 2 ลอยน้ำไปแล้วสถิตขึ้นที่วัดบ้านแหลมจังหวัดสมุทรสงคราม เรียกว่า "หลวงพ่อวัดบ้านแหลม" และองค์ที่ 3 ลอยตามน้ำไปตามจังหวัดเพชรบุรี แล้วขึ้นสถิตที่วัดเขาตะเครา เรียกว่า "หลวงพ่อวัดเขาตะเครา"

คาถาบูชา (ตั้งนะโม 3 จบ)

"กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา มะเหสักขายะ เทวะตายะ อะธิปาถิตัง อิทธิปาฏิหาริกัง มังคะละจินตารามพุทธะปะฏิมากะรัง ปูชามิหัง ยาวะชีวัญจะ สุกัมมิโก สุขะปัตถิตายะ"

 ----------------------------------------------------------

หลวงพ่อวัดบ้านแหลม

หลวงพ่อบ้านแหลม เป็นพระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตร สูงประมาณ 2 เมตร 80 เซนติเมตร หล่อด้วยทองเหลืองปิดทอง ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดเพชรสมุทรวรวิหารหรือที่เรียกว่าวัดบ้านแหลม เป็นพระพุทธรูปสำคัญของชาวเมืองแม่กลอง หรือจังหวัดสมุทรสงคราม 

ตามตำนานเล่ากัน หลวงพ่อบ้านแหลม มีความสัมพันธ์กับตำนานหลวงพ่อโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา แต่มีเพิ่มเติมจำนวนพระพุทธรูปจาก 3 องค์ เป็น 5 องค์ กล่าวคือ มีเรื่องเล่ากันมาว่า มีพระพุทธรูป 5 องค์ ลอยน้ำมาจากเมืองเหนือ เมื่อมาถึงภาคกลางก็ได้แยกย้ายกันไปประดิษฐานอยู่ตามจังหวัดต่างๆ รวม 5 จังหวัด

หลวงพ่อบ้านแหลม มีตำนานอีกเรื่องหนึ่ง กล่าวว่า ชาวบ้านแหลมที่มาตั้งรกรากอยู่ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2307 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวประมง วันหนึ่งได้มีชาวประมงไปลากอวนหาปลาที่ปากแม่น้ำแม่กลอง และอวนได้ติดพระพุทธรูปขึ้นมาสององค์องค์หนึ่งเป็น พระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตร อีกองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปนั่ง จึงอาราธนาพระพุทธรูปยืนมาประดิษฐานที่ วัดศรีจำปา ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ของเมืองแม่กลอง ส่วนพระพุทธรูปนั่งได้มอบให้ญาติพี่น้องนำไปประดิษฐานที่ วัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี

วัดศรีจำปา นี้ต่อมาได้ชื่อว่าวัดบ้านแหลม ซึ่งต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชั้นวรวิหาร และได้รับพระราชทานนามว่า วัดเพชรสมุทรวรวิหาร บาตรแก้วสีน้ำเงินที่เห็นอยู่ปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าบรมเธอกรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช ได้ถวายไว้เนื่องจากบาตรเดิมอาจจมหายอยู่ในน้ำก่อนที่ชาวประมงจะได้จากทะเลปากอ่าวแม่กลอง

คาถาบูชา (ตั้งนะโม 3 จบ)

"นะ มะ ระ อะ นะ เท วะ อะ" หรือ "สะทา วะชิระสะมุททะวะระวิหาเร ปะติฏฐิตัง นะระเทเวหิ ปูชิตัง ปัตตะหัตถัง พุทธะรูปัง อะหัง วันทามิ ทูระโต" 

--------------------------------------------------------------

พระพุทธสิหิงค์

พระพุทธสิหิงค์  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  องค์ที่๑  เป็นพระพุทธรูปปางนั่งขัดสมาธิสูง ๙๖ ซม. หน้าตักกว้าง ๖๖ ซม. หล่อด้วยสัมฤทธิ์ ปิดทองคำเปลว พระสรีระได้สัดส่วนและงดงามที่สุดจะหา พระพุทธโบราณในเมืองไทยที่งดงาม และได้สัดส่วนเทียมพระพุทธสิหิงค์องค์นี้มิได้เลย ตามตำนานกล่าวว่าพระพุทธสิหิงค์ องค์นี้ศิลปะสุโขทัยประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธศวรรย์ กรุงเทพมหานคร

พระพุทธสิหิงค์ องค์ที่ ๒ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ มีความสำคัญคู่กับพระพุทธสิหิงค์ในกรุงเทพฯ และเมืองนครศรีธรรมราช เป็นพระพุทธรูปที่งดงามมาก องค์นี้ศิลปะเชียงแสน พระพุทธสิหิงค์ เชียงใหม่ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร หล่อด้วยสัมฤทธิ์ปิดทองคำเปลว หนักตักกว้าง ๔๐ นิ้ว ศิลปะเชียงแสนรุ่นแรก ปัจจุบันประดิษฐานในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่

พระพุทธสิหิงค์ องค์ที่ ๓ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองนครศรีธรรมราช มีความสำคัญคู่กับพระพุทธสิหิงค์เมืองเชียงใหม่ และกรุงเทพมหานคร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร แบบขนมต้ม มีพระพักตร์กลม อมยิ้ม พระอุระอวบอ้วน หล่อด้วยสัมฤทธ์ ปิดทอง หน้าตักกว้าง ๑๔ นิ้ว สูง ๑๖.๘ นิ้ว นับเป็นพระพุทธรูปสำคัญ คู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณกาล ประดิษฐานอยู่ในบุษบกไม้ ณ หอพระ ระหว่างศาลกับศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช องค์นี้ศิลปะศรีวิชัย

คาถาบูชา (ตั้งนะโม 3 จบ)

"อิติ ปะวะระสิหิงโค อุตตะมะยะโสปิ เตโช ยัตถะ กัตถะ จิตโต โส สักกาโร อุปาโท สะการะพุทธะสาสะนัง โชตะยันโต วะ ทีโป สุระณะเรหิ มะหิโต ธะระมาโน วะ พุทโธติ" 

---------------------------------------------------------

 

 

หน้าแรก | ดูบทความทั้งหมด
# 1
By หมอยา
On 2017-08-12 13:12:41

หลวงพ่อพระใส

หลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย จ.หนองคาย เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่เมือง ประดิษฐานอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย ซึ่งมีฐานะเป็นวัดอารามหลวง ตั้งอยู่ที่ถนนโพธิ์ชัย ในเขตเทศบาลเมือง ห่างจากตัวเมืองหนองคายไปประมาณ 2 กิโลเมตร ตามทาง หลวงหมายเลข 212 ทางไป อ.โพนพิสัย วัดจะอยู่ทางซ้ายมือ เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสีสุก หน้าตักกว้าง 2 คืบ 8 นิ้ว ส่วนสูงจากพระชงฆ์เบื้อล่างถึงยอดพระเกศ ๔ คืบ ๑ นิ้วของช่างไม้

ประวัติการสร้าง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานไว้ในหนังสือประวัติพระพุทธรูปสำคัญ ซึ่งพิมพ์แจกในงานทอดกฐินพระราชทาน พ.ศ. 2468 ว่า หลวงพ่อพระใส เป็นพระพุทธรูปหล่อในสมัยล้านช้าง และตามตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาว่า พระธิดา 3 องค์ แห่งกษัตริย์ล้านช้างเป็นผู้สร้าง บางท่านก็ว่าเป็นพระราชธิดาของพระไชยเชษฐาธิราช ได้หล่อพระพุทธรูปขึ้น 3 องค์ และขนานนาม พระพุทธรูปตามนามของตนเองไว้ด้วยว่า พระเสริมประจำพี่ใหญ่ พระสุกประจำคนกลาง พระใสประจำน้องสุดท้อง มีขนาดลดหลั่นกันตามลำดับ

การประดิษฐานเดิมทีนั้นหลวงพ่อพระใสได้ประดิษฐาน ณ เมืองเวียงจันทน์ พ.ศ. ๒๓๒๑ สมัยกรุงธนบุรีได้อัญเชิญไปไว้ที่เมืองเวียงคำ และถูกเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดโพนชัย เมืองเวียงจันทน์อีก ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ เจ้าอนุวงศ์ เมืองเวียงจันทน์เป็นกบฎ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิ์พลเสพย์ เป็นจอมทัพยกพลมาปราบ จึงได้อัญเชิญพระสุก พระเสริม และพระใส ลงมาด้วย โดยอัญเชิญมาจากภูเขาควายขึ้นประดิษฐานบนแพไม้ไผ่ ซึ่งผูกติดกันอย่างมั่นคงล่องมาตามลำน้ำงึม เมื่อล่องมาถึงตรงบ้านเวินแท่นในขณะนั้น เกิดอัศจรรย์แท่นของพระสุกได้เกิดแหกแพจมลงไปในน้ำ โดยเหตุที่มีพายุพัดแรงจัด และบริเวณนั้นได้นามว่า "เวินแท่น"

การล่องแพก็ยังล่องมาตามลำดับจนถึงน้ำโขง (ปากน้ำงึม) เฉียงกับบ้านหนองกุ้ง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ได้เกิดพายุใหญ่ เสียงฟ้าคำรามคะนองร้องลั่น ในที่สุดพระสุกได้แหกแพจมลงไปในน้ำ ซึ่งอาการวิปริตต่างๆ ก็ได้หายไปเป็นอัศจรรย์ยิ่ง บริเวณนั้นจึงได้ชื่อว่า "เวินสุก" และพระสุกก็จมอยู่ในน้ำตรงนั้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังเหลือแต่พระเสริม พระใส ที่ได้นำขึ้นมาถึงเมืองหนองคาย พระเสริมนั้นได้ถูกอัญเชิญประดิษฐานไว้ ณ วัดโพธิ์ชัย ส่วนพระใส ได้อัญเชิญประดิษฐานไว้ ณ วัดหอก่อง (ปัจจุบันคือวัดประดิษฐ์ธรรมคุณ)

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุนวรธานีและเจ้าเหม็น (ข้าหลวง) อัญเชิญพระเสริม จากวัดโพธิ์ชัย หนองคายไปกรุงเทพฯ และอัญเชิญพระใสจากวัดหอก่องขึ้นประดิษฐานบนเกวียนจะอัญเชิญลงไปกรุงเทพฯ ด้วย แต่พอมาถึงวัดโพธื์ชัย หลวงพ่อพระใสได้แสดงปาฏิหาริย์จนเกวียนหักจึงอัญเชิญลงไปไม่ได้ ได้แต่พระเสริมลงกรุงเทพฯ ประดิษฐาน ณ วัดปทุมวนาราม ส่วนหลวงพ่อพระใสได้อัญเชิญประดิษฐาน ณ วัดโพธิ์ชัย อ.เมืองหนองคาย จนถึงปัจจุบัน ความอัศจรรย์ของหลวงพ่อพระใสจนได้สมญาว่า "หลวงพ่อเกวียนหัก" 

คาถาบูชา (ตั้งนะโม 3 จบ)

"อะระหัง พุทโธ โพธิชะโย เสยยะคุโณ โพธิสัตโต มะหาลาโภ ปิยัง มะมะ ภะวันตุ โน โหตุ สัพพะทา" 

(http://www.dhammathai.org/thailand/bi24.php)

-----------------------------------------------------------------------

พระพุทธนเรศร์สักชัยไพรีพินาศ

วัดบุพพาราม ตั้งอยู่บนถนนท่าแพเยื้องกับวัดแสนฝาง อำเภอเมือง เป็นวัดคู่เมืองเชียงใหม่ พระเมืองแก้วโปรดให้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2039 ได้รับการบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2362 เจ้าหลวงธรรมลังกาโปรดให้สร้างวิหารหลังเล็กซึ่งเป็นเครื่องไม้ศิลปะล้านนา หน้าบันเป็นปูนปั้นประดับกระจกแกะลายสลักไม้อย่างงดงาม ส่วนวิหารหลังใหญ่หน้าบันมีลวดลายไม้แกะสลักแบบพม่า เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อด้วยทองแดงล้วนหนัก 1 โกฏิ อายุ 400 ปีเศษ และพระพุทธรูปเชียงแสนหล่อด้วยสำริดอยู่ทางด้านซ้ายและขวาอีกหนึ่งคู่ ภายในหอมณเฑียรธรรมประดิษฐานพระพุทธรูปไม้สักขนาดหน้าตักกว้าง 1 วาเศษ มีอายุประมาณ 400 ปี ตามประวัติเล่าว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงยกทัพจากเมืองอยุธยาเพื่อขึ้นมาปราบอริราชศัตรูที่มารุกรานเมือง เชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2147 จนทัพศัตรูได้ล่าถอยไปทางเมืองแหงและเมืองต๋วน สมเด็จพระนเรศวรฯจึงพักรบและสร้างพระพุทธนเรศศักดิ์ชัยไพรีพินาศองค์นี้ขึ้น "พระพุทธนเรศวร์สักชัยไพรีพินาศ" ถือว่าเป็นพระพุทธรูปแกะสลักจากไม้สักที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่มีปรากฏ และยังมีความงดงามเป็นที่เคารพเลื่อมใสในหมู่ชาวบ้านทั่วไป ภายหลังเคลื่อนย้ายมาประดิษฐาน ณ วัดบุพพาราม เพื่อให้ชาวเมืองได้กราบไหว้สักการะตราบจนปัจจุบัน

คาถาบูชา (ตั้งนะโม 3 จบ) 

++++  "อิติจิตตัง เอหิ เทวะตาหิ จะ มะหาเตโช  นะระปูชิโต โสระโส ปัจจะยาธิปะติ   นะเรโส จ มะหาลาภัง สะทา โสตถี ภะวันตุ เม"  +++


บทความแนะนำ

รวมบทความ

แปลภาษา
ติดตามข่าวสาร
ติดตามข่าวสารที่ทวิสเตอร์  Page Ranking Tool